ที่มาของสมาชิกสภาเทศบาล
สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เป็นบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชนในเขตเทศบาลแต่ละประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ซึ่งจะมีการแบ่งจำนวนเขตเลือกตั้งแตกต่างกันไป 2-4 เขตเลือกตั้ง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 (3) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554[6] เพื่อให้มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในเขตเทศบาล ตรวจสอบและควบคุมฝ่ายบริหารตามหลักการถ่วงดุลอำนาจในระบบรัฐสภา ส.ท. จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง โดยมีจำนวนสมาชิกในสภาเทศบาลแต่ละประเภทแตกต่างกันไป กล่าวคือ สภาเทศบาลตำบล มีจำนวนสมาชิก 12 คน สภาเทศบาลเมือง มีจำนวนสมาชิก 18 คน และสภาเทศบาลนคร มีจำนวนสมาชิก 24 คน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 โดยแบ่งตามเกณฑ์รายได้และประชากรในพื้นที่ของเขตเทศบาล
โดยปกติสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลจะสิ้นสุดลงพร้อมกับอายุของสภาหรือการยุบสภา เว้นเสียแต่ว่า ส.ท. ผู้นั้นจะเสียชีวิต ลาออกจากตำแหน่ง มีผลประโยชน์ทับซ้อนในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญา ถูกประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถอดถอนออกจากตำแหน่งตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น และถ้าหากตำแหน่ง ส.ท. ว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระหรือมีการยุบสภา จะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ท. ขึ้นมาดำรงแต่งแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แต่ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากับเวลาของผู้ที่ดำรงตำแหน่งเดิมเหลืออยู่
ความสำคัญของสมาชิกสภาเทศบาล
สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกประธานสภาและรองประธานสภาจากสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดที่มีอยู่ ส.ท. มีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ตามรูปแบบของระบบรัฐสภา และมีหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติอันเกี่ยวข้องกับการร่างและพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆของเทศบาล ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของ ส.ท. กล่าวคือ หน้าที่ในด้านการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ส.ท. โดยเข้าร่วมลงชื่อกับสมาชิกสภารวมแล้วได้จำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง มีสิทธิทำคำร้องยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้เปิดประชุมวิสามัญ โดยให้ผู้ว่าราชการพิจารณาและเรียกประชุมวิสามัญได้ถ้าเห็นว่าสมควรและเป็นประโยชน์ต่อเทศบาล ส.ท.แต่ละคนมีสิทธิในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาจำนวนหนึ่งคะแนนเสียงส.ท. มีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานตามหน้าที่ของบุคคลในตำแหน่งดังกล่าว นอกจากนี้ ส.ท.ยังมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือก ส.ท.ด้วยกันเองเป็นคณะกรรมการสามัญของสภา และมีอำนาจเลือกผู้ที่มีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาหรือบุคคลภายนอก เป็นคณะกรรมการวิสามัญของสภา กระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลและรายงานผลให้สภาทราบ
หน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติของ ส.ท. มีดังเช่น มีสิทธิเสนอร่างเทศบัญญัติ ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมาย เพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเทศบัญญัติหรือเทศพาณิชย์ของเทศบาล มีอำนาจในการพิจารณาและลงมติเห็นชอบต่อร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะๆ เริ่มต้นจากในสมัยของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ที่กำหนดให้ ส.ท. มีที่มา 2 ประเภท คือ ประเภทที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และประเภทที่มาจากการเลือกตั้ง ในประเภทหลังจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตเทศบาลที่เป็นตัวแทนมาจากแต่ละหมู่บ้าน ในกรณีของเทศบาลตำบลและเทศบาลเมือง (ถ้าหมู่บ้านใดมีประชาชนเกิน 200 คน ให้เพิ่ม ส.ท. อีก 1 ตำแหน่ง) และที่เป็นตัวแทนมาจากแต่ละตำบล ในกรณีของเทศบาลนคร (ถ้าตำบลใดมีประชาชนเกิน 2,000 คน ให้เพิ่ม ส.ท. อีก 1 ตำแหน่งทุกๆ 2,000 คน) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของคณะเทศมนตรี ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2481 ได้กำหนดให้สมาชิกสภาเทศบาลมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลให้เหลือน้อยลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายของเทศบาล โดยกำหนดให้เทศบาลตำบล มีสมาชิกสภาตำบล 9 คน เทศบาลเมือง มีสมาชิกสภาเมือง 24 คน และเทศบาลนคร มีสมาชิกสภานคร 36 คน แต่ในเวลาต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2486 และกำหนดให้มีการแบ่งประเภทสมาชิกเทศบาลออกเป็น 2 ประเภทตามที่เคยใช้ในปี พ.ศ. 2476 เช่นเดิม เนื่องจากสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีข้อบกพร่องในการทำหน้าที่ ขาดความสามารถ ไม่เข้าใจบทบาทของตนเองดีพอ จึงต้องมีสมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นเสมือนพี่เลี้ยง และการแบ่งประเภทสมาชิกสภาในลักษณะนี้ก็ยังใช้ต่อมาเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เป็นกฎหมายฉบับใหม่ และในรัฐบาลอื่นๆต่อมาก็ยังคงใช้รูปแบบของที่มาสมาชิกเทศบาลเช่นนี้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2542 ในสมัยของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหลือเพียงแค่สมาชิกประเภทที่มาจากการแต่งตั้งเท่านั้น และกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี จากเดิมมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งกลายเป็นรูปแบบที่มาของสมาชิกสภาเทศบาลที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน |